แตงไทย สรรพคุณ และการปลูกแตงไทย

Last Updated on 24 สิงหาคม 2016 by puechkaset

แตงไทย (Mask Melon) เป็นแตงพื้นเมืองของไทยที่มีลักษณะผล และเนื้อคล้ายแคนตาลูป ผลดิบมีรสหวานน้อยกว่ารสเปรี้ยว ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว แต่มีกลิ่นหอมแรงกว่าแตงอื่นๆ นิยมปลูกสำหรับทำของหวาน รวมถึงนำมารับประทานสดเป็นผักจิ้มน้ำพริก

แตง ไทย มีโครโมโซม 2n = 2x = 24 เป็นพืชผสมเกสรข้ามดอก จากดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียที่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยมีแมลง และลมเป็นตัวช่วยผสมเกสร มีลักษณะผลคล้ายแคนตาลูป เป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับแตงกวา และแคนตาลูป สามารถเจริญเติบโต และต้านทานโรคได้ดี

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cucumis melo L. var. conomon
• วงศ์ : Cucurbitaceae
• ชื่อสามัญ : Mask Melon, pickling melon
• ชื่อท้องถิ่น :
– แตงไทย (กลาง และทั่วไป)
– แตงลาย (เหนือ)
– แตงจิง แตงกิง (อีสาน)
– ซกเซรา (เขมร)

แตงไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
แตงไทยเป็นไม้เถาล้มลุก มีลำต้นลาย เป็นสันร่องตามยาว แตกกิ่งแขนง และมีมือเกาะ มีขนปกคลุมลำต้น

2. ใบ
ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ มีลักษณะเหลี่ยมมีเว้าเล็กน้อย มีรูปทรงกลมหรือรูปไต ขอบใบหยัก มีแฉก 5-7 แฉก กว้าง และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนขึ้นปกคลุม ก้านใบยาว 4-10 เซนติเมตร

3. ดอก
ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกดอกเดี่ยวสีเหลือง มีก้านดอกสั้น ดอกเพศผู้ออกเป็นจุกที่ง่ามใบ ดอกบานกว้าง 1.2-3 เซนติเมตร มีกลีบรองดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบยาว 6-8 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันบริเวณโคนกลีบ แต่ละกลีบมีรูปทรงกลม ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ด้านในมีเกสรตัวผู้ 3 อัน ระหว่างอับเรณูมีติ่งยาว

Mask Melon3

ส่วนดอกเพศเมีย ออกเป็นดอกเดี่ยว มีกลีบรองดอก และกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ ปลายท่อรังไข่มีแฉก 3-5 แฉก

4. ผล
ผลแตงไทยมีลักษณะกลมหรือรียาว ตามสายพันธุ์ ผลมีลายตามความยาวของผล มีความยาวผลประมาณ 23 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 เซนติเมตร ผิวเปลือกมันเรียบ ผลดิบมีสีเขียว มีลายสีขาวหรือสีเหลืองตามแนวยาว มีเนื้อสีขาวนวล ส่วนผลสุกมีเปลือกบาง เปลือกสีเหลือง มีกลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองนวลหรือสีเขียวอ่อน มีรสจืด ออกเปรี้ยวมาก แต่ละต้นติดผลประมาณ 3-5 ผล

Mask Melon1

Mask Melon

ประโยชน์แตงไทย
• ผลอ่อนแตงไทยนิยมนำมารับประทาสด ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบ ป่น ทำแกงอ่อม ยำ และทำเป็นแตงดอง แต่ส่วนมากไม่นิยมทำสุก
• สารสกัดจากผลดิบหรือผลสุกใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง ช่วยบำรุงผิว และช่วยผลัดเซลล์ผิว
• ผลสุกมีรสหวานเปรี้ยว มีกลิ่นหอมแรง นิยมใช้ทำแตงไทยน้ำเชื่อม บวชแตงไทย ใส่ลอดช่อง ใส่ไอศครีม เป็นต้น
• ยอดอ่อนจากต้นกล้าหรือยอดอ่อนจากต้นใหญ่ใช้ปรุงอาหารจำพวกผัด แกง หรือลวกจิ้มน้ำพริก
• ดอก ใช้ทำแกงอ่อม แกงเลียง
• ดอก ใช้ตากแห้ง และบดชงเป็นชาดื่ม

Mask Melon2

คุณค่าทางโภชนาการแตงไทย (100 กรัม)
• ความชื้น
– แตงไทยอ่อน : 94.4 กรัม
– แตงไทยสุก : 96.1 กรัม
• เส้นใย
– แตงไทยอ่อน : 0.5 กรัม
– แตงไทยสุก : 2.7 กรัม
• เถ้า
– แตงไทยอ่อน : 0.3 กรัม
– แตงไทยสุก : 0.3 กรัม
• พลังงาน
– แตงไทยอ่อน : 19 กิโลแคลอรี่
– แตงไทยสุก : 12 กิโลแคลอรี่
• คาร์โบไฮเดรต
– แตงไทยอ่อน : 3.7 กรัม
– แตงไทยสุก : 2.3 กรัม
• โปรตีน
– แตงไทยอ่อน : 0.8 กรัม
– แตงไทยสุก : 0.8 กรัม
• แคลเซียม
– แตงไทยอ่อน : 20 มิลลิกรัม
– แตงไทยสุก : –
• ฟอสฟอรัส
– แตงไทยอ่อน : 41 มิลลิกรัม
– แตงไทยสุก : 13 มิลลิกรัม
• เหล็ก
– แตงไทยอ่อน : 1.1 มิลลิกรัม
– แตงไทยสุก : 0.3 มิลลิกรัม
• วิตามิน C
– แตงไทยอ่อน : 31 มิลลิกรัม
– แตงไทยสุก : 17 มิลลิกรัม
• วิตามิน B1
– แตงไทยอ่อน : 0.02 มิลลิกรัม
– แตงไทยสุก : 0.02 มิลลิกรัม
• วิตามิน B2
– แตงไทยอ่อน : 0.03 มิลลิกรัม
– แตงไทยสุก : 0.01 มิลลิกรัม

ที่มา : กุลยา, 2533(1)

สรรพคุณแตงไทย
• ใบ และยอดอ่อนมีรสจืดช่วยลดอาการเป็นไข้
• ดอกใช้ต้มรับประทานแก้ดีซ่านหรือบดเป็นผงใช้ประคบรักษาแผล
• ผลดิบหรือผลสุกมีกรดหลายชนิด ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยเจริญอาหาร
• เนื้อผลดิบ และสุก ช่วยเป็นยาระบาย แก้กระหายน้ำ และช่วยลดความร้อนในร่างกาย
• ราก มีรสเฝื่อนเย็น ใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย และทำให้อาเจียน
• เมล็ด มีรสเย็นจืด ใช้ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบาย ช่วยแก้ไอ และช่วยย่อยอาหาร

ที่มา : วินัย สุตันตั้งใจ, 2549(2)

การปลูกแตงไทย
การปลูกแตงไทยจะใช้วิธีการปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างจะหายาก เนื่องจากเป็นแตงที่ปลูกในบางจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคอีสานเท่านั้น และเป็นการปลูกเพ่อบริโภคภายในครัวเรือน และจำหน่ายตามชุมชนเท่านั้น

การเตรียมดิน
การปลูกแตงไทยนิยมปลูกบนแปลงไร่นา ซึ่งต้องเตรียมดินด้วยการไถพรวนดิน พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดิน 5-7 วัน ก่อน หลังจากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 ตัน/ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถยกร่องคล้ายกับการปลูกมันสำปะหลัง ขนาดร่องกว้าง 60-80 เซนติเมตร ซึ่งจะได้ระห่างระหว่างแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร

การปลูก
การปลูกแตงไทยนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว โดยใช้วิธีการหยอดเมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุม 60-80 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 3-5 เมล็ด

การดูแล
การดูแลแตงไทยไม่ค่อยยุ่งยากนักเหมือนการปลูกแตงชนิดอื่น หากปลูกในฤดูฝนจะอาศัยน้ำฝนในการเติบโตเท่านั้น และไม่ต้องทำค้าง เพียงปล่อยให้เลื้อยตามดิน แต่บางพื้นที่อาจพบการระบาดของไส้เดือนเจาะผล หรือผลเน่า ซึ่งต้องคอยหาที่รองผลไม่ให้สัมผัสกับดิน โดยเฉพาะในช่วงที่ดินชุ่มมาก เช่น การใช้เศษไม้ กิ่งไม้ หรือฟางรองผล

การเก็บผลผลิต
ผลแตงไทยที่สุกจะมีสีเหลือง และมีกลิ่นหอม ควรเก็บผลในระยะที่ผิวเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองมากกว่าร้อยละ 70 ของผล ใบเหลือง และร่วง ไม่ควรเก็บในระยะผลปริแตก เพราะจะเก็บได้ไม่นาน

หากต้องการเก็บ เมล็ดพันธุ์ ให้ใช้ซ้อนขูดเมล็ดออกให้หมด แล้วนำมากรองใส่ผ้าขาวหรือตะแกรงร่อน หลังจากนั้นนำเมล็ดตากแดดให้แห้ง ก่อนนำบรรจุใส่หรือขวดพลาสติกสำหรับเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า

เอกสารอ้างอิง
1. กุลยา จันทร์อรุณ, 2533. เคมีอาหาร. ภาคพัฒนาตำราและเอกสารวิชาการหน่วยศึกษานิเทศน์. กรมการฝึกหัดครู. กรุงเทพฯ.
2. วินัย สุตันตั้งใจ, 2549. การพัฒนาผลิตภัณฑ์แตงไทย และการจัดการ ของเสียจากการแปรรูปแตงไทย.